<aside> 📑 เอกสารเพิ่มเติมของ '2475 นักเขียนผีแห่งสยาม' นี้ถูกทำขึ้นมาเพื่อรวบรวมและเผยแพร่ ข้อมูล เกร็ด หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เป็นแหล่งอ้างอิงในการสร้างนิยายภาพครั้งนี้ให้กับผู้อ่านที่สนใจศึกษาเรื่องราวเบื้องลึกในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม
</aside>
Visit our project:
สารบัญ | Table of Contents
กรมศิลปากร. ทำเนียบนามภาค 4 ถนนในจังหวัดพระนครและธนบุรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ตีพิมพ์พระราชทานในงานเมรุ มหาอำอาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2482 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส (พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงธรรม, 2482) หน้า 63 – 66)
ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 นับเป็นช่วงเวลาที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ทั้งในแง่สภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ตั้งแต่การขยายตัวของเมืองหลวงหลายแห่งทั่วภาคพื้นทวีปยุโรป ความโหดร้ายของประเทศเจ้าอาณานิคม ทั้งยังมีอัตราการบริโภคเชื้อเพลิงปิโตรเลียม และการใช้เครื่องจักรขยายตัวมากขึ้นจนนำไปสู่คริสต์ทศวรรษ 1920 อันรุ่งโรจน์ (Roaring Twenties) ซึ่งความรุ่งโรจน์ดังกล่าวเช่นนี้ ทำให้เมืองหลวงสยามอย่าง ‘บางกอก (Bangkok)’ ได้พัฒนากลายเป็นหัวเมืองสมัยใหม่ที่มีความเจริญ มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ไม่ต่างอะไรกับเมืองหลวงตามประเทศยุโรป การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างไฟฟ้า ถนนหนทาง ยวดยานพาหนะ ตลอดจนร้านรวงและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ล้วนแต่ได้รับอิทธิพลต้นแบบมาจากตะวันตกทั้งสิ้น ไม่เพียงแต่เมืองบางกอกกำลังก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่เท่านั้น ชาวสยามเองยังปรับทัศนคติของตน เพื่อโอบรับค่านิยม ความคิด และความเชื่อ ผ่านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อจากประเทศตะวันตกอีกด้วย นั่นจึงทำให้ ปรัชญาทางด้านการปกครองอย่างการสร้างระบบข้าราชการของรัฐสยาม ก็ได้ถูกออกแบบมาให้อ้างอิงกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เช่นเดียวกับแบบแผนการบริหารราชการแผ่นดินในประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสตามลำดับ (Copeland. 1993 : 1-2, Winichakul. 2000 : 532, Subrahmanyan. 2015 : 571)
หลังจากเกิดเหตุการณ์ การปฏิวัติเดือนตุลาคม (The October Revolution: 1917-1923) ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจักรวรรดิรัสเซียล่มสลายลง ทั้งยังมีการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ขยายตัวขึ้นในยุโรป การก่อกำเนิดลัทธิฟาสซิสต์ ที่แพร่หลายอย่างมากในประเทศเยอรมนีและอิตาลี เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายมาเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระเบียบโลก ความผันผวนเช่นนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายประเทศ เช่น ประเทศจีนที่กำลังตกอยู่ท่ามกลางภาวะไร้เสถียรภาพอันยาวนาน อันเกิดจากสงครามกลางเมืองระหว่างก๊กมินตั๋ง (พรรคชาตินิยมจีน) และพรรคคอมมิวนิสต์จีน ขบวนการเรียกร้องเอกราชขึ้นในดินแดนอาณานิคมในทางตอนใต้ของเกาะไอร์แลนด์ หรือแม้แต่การเกิดสงครามอินโดจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างเวียดนามและฝรั่งเศส เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเอกราชของประเทศเวียดนาม เป็นต้น (Boyce. 2009 : 249, Goebel. 2015 : 14-16)
และเมื่อเกิด ‘ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression: 1929-1939)’ อันเป็นการล่มสลายทางเศรษฐกิจทั่วโลก ผลกระทบดังกล่าวทำให้มีการสูญเสียการว่าจ้างงาน และอัตราการบริโภคลดลงอย่างรุนแรง ประเทศสยามเผชิญกับปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำลง ชาวนาสูญเสียที่ดิน และภาวะหนี้สินเพิ่มขึ้น โรงงานและธุรกิจทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดปิดตัวลง การว่างงานเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งยังมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มข้าราชการ ที่ทวีตัวเพิ่งสูงขึ้น ความอึดอัดใจของราษฎรยังคงปรากฏผ่านการเขียนฎีกาถึงพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เร่งกระจายอำนาจบริหารและลดภาษีที่นาอยู่เนื่องๆ สำนักหนังสือพิมพ์สยามต่างพากันวิจารณ์การบริหารงานรัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน และต่างเขียนบทความเสนอวิธีแก้ไขปัญหาประเทศ ด้วยการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญแห่งสยาม เพื่อทำให้สยามกลายเป็นรัฐที่มีกฎหมายกำกับดูแล และมีสภาที่มีตัวแทนราษฎร ให้เข้าไปมีส่วนบริหารประเทศให้พ้นวิกฤตที่กำลังประสบอยู่ (Subrahmanyan. 2018 : 3, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2543 : 34-40, 2560 : 114-117)
ความขัดแย้งดังกล่าวดำเนินมาสู่ พ.ศ. 2475 (1932) ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย เมื่อราชอาณาจักรสยามเปลี่ยนรูปแบบประเทศจาก ‘ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy)’ ไปสู่ ‘ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy)’ เปลี่ยนรูปแบบการปกครองไปเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จากคณะนายทหารและพลเรือน ที่เรียกตนเองว่า ‘คณะราษฎร (People’s Party)’ การปฏิวัติดังกล่าวทำให้ประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก และปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากสามัญชนเป็นครั้งแรก อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน